ประวัติ ของ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในสังคมปัจจุบัน กฎหมายมีความจำเป็นที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ การดำเนินธุรกิจทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนชีวิตประจำวันของทุกคน ประกอบจากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ในสถาบันการศึกษาภาครัฐส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) พบว่านิสิต นักศึกษา ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดทางภาคใต้ คิดเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้เห็นว่า กฎหมายเป็นที่นิยมของคนภาคใต้ ทั้งนี้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลบังคับใช้และผลจากการปฏิรูประบบราชการในกระบวนการยุติธรรม ทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานราชการ และองค์กรอิสระด้านกฎหมายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการบุคลากรทางด้านกฎหมายสูงขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น รวมถึงบุคลากรสายอาจารย์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอีกหลายสถาบันได้เล็งเห็นความสำคัญ และริเริ่มจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ ประกอบกับอัตราค่าตอบแทนทางวิชาชีพที่ค่อนข้างสูง เช่น ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคลากรในภาครัฐและเอกชนสนใจและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสายงานไปสู่วิชาชีพดังกล่าว และเมื่อพิจารณาแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา แล้ว ยังพบว่า เป็นศูนย์รวมของหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมหลายแห่ง อันได้แก่ ศาลจังหวัดสงขลา ศาลปกครองสงขลา สำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 สำนักงานอธิบดีอัยการเขต 9 สำนักงานตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติให้แก่นิสิต โดยการศึกษาดูงานและฝึกงานในหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นได้อีกด้วย

ดังนั้นมหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ให้การบริการด้านการศึกษาและบริการด้านสังคม ได้ตระหนักถึงภารกิจนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ ตามคำสั่งที่ 772/2547 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2547 ดังรายชื่อต่อไปนี้

  1. ศ.ดร สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการ
  2. ผศ.ดร.สมศักดิ์ โชคนุกูล (รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ) กรรมการ
  3. รศ.ดร.กิตติพงษ์ หัสพฤกษ์ กรรมการ
  4. รศ.ภิญโญ ตันพิทยคุปต์ กรรมการ
  5. นายอภิชาติ เทพหนู กรรมการ
  6. นายสัตยา อรุณธาร กรรมการ
  7. นายตรีรัตน์ จุ๋ยมณี กรรมการ และเลขานุการ

ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่จัดทำหลักสูตรและจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ โดยได้จัดทำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ (หลักสูตร 4 ปี) สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการรับสมัครและเปิดสอนในภาคเรียนต้น ปีการศึกษา 2548 และได้จัดทำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ (หลักสูตร 3 ปี) สำหรับ ผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีทุกสาขา (ปริญญาตรีใบที่สอง) ซึ่งจะรับสมัครและเปิดทำการสอนในภาคเรียนปลาย ปีการศึกษา 2547 โดยทำการสอนนอกเวลาราชการ ในวันศุกร์ เวลา 17.00 - 20.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 08.00 - 17.00 น.

ต่อมา สภามหาวิทยาลัย ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ เป็นหน่วยงานภายใน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2547 ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5/2547 คณะนิติศาสตร์ จึงถือว่าวันที่ 25 กันยายน 2547 เป็นวันสถาปนาคณะนิติศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นผู้รักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์

ใกล้เคียง

คณะนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร